บัตรเครดิตคืออะไร
บัตรเครดิตเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกบัตร (Issuer) ซึ่งได้แก่ธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ออกให้แก่ลูกค้า (ผู้ถือบัตร หรือ Card Holder) ซึ่งประโยชน์ที่ผู้ถือบัตรจะได้รับมีหลายประการ เช่น
-
ใช้แทนเงินสดเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการโดยยังไม่ต้องจ่ายเงินในทันที ณ ร้านค้าที่รับบัตร รวมถึงร้านค้าบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะสังเกตได้จากโลโก้ของเครือข่ายผู้ให้บริการบนบัตรและที่ร้านค้า ตัวอย่างเครือข่ายบัตรเครดิต เช่น VISA, Master Card, American Express, China Union Pay (CUP), Japan Credit Bureau (JCB)
-
เบิกถอนเงินสดจากเครื่อง ATM มาใช้ล่วงหน้าได้
-
รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ตามรายการส่งเสริมการขาย เช่น คะแนนสะสมเพื่อแลกของรางวัล ส่วนลดจากร้านค้า การผ่อนชำระสินค้าดอกเบี้ย 0 % เงินคืนจากการใช้จ่าย (cash back) ที่จอดรถ ห้องรับรองตามสถานที่ต่าง ๆ ความคุ้มครองเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ
แต่ผู้ถือบัตรก็ต้องรู้จักใช้อย่างมีวินัยและเหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการก่อหนี้โดยไม่จำเป็น เกิดภาระดอกเบี้ยและค่าบริการ หรือมีหนี้สินล้นพ้นตัว ถูกฟ้องร้อง ประวัติสินเชื่อเสียจนเป็นเหตุให้ขอสินเชื่ออื่นที่สำคัญกว่าไม่ได้
วงเงินบัตรเครดิต
กรณีที่พิจารณาจากรายได้ของผู้ขอบัตรเครดิต วงเงินที่ได้รับอนุมัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้
รายได้ต่อเดือน | วงเงินอนุมัติ |
ตั้งแต่ 15,000 บาท แต่น้อยกว่า 30,000 บาท | 1.5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน |
ตั้งแต่ 30,000 บาท แต่น้อยกว่า 50,000 บาท | 3 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน |
ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป | 5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน |
การคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม
ผู้ออกบัตรจะเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ (ในที่นี้ขอเรียกโดยย่อว่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม) รวมกันได้ไม่เกิน 16% ต่อปี โดยมีวิธีคำนวณ 2 แบบตามการใช้บัตรดังนี้
(1) การชำระค่าสินค้าและบริการไม่เต็มจำนวนภายในวันที่กำหนดหรือชำระล่าช้า ผู้ออกบัตรสามารถคิดดอกเบี้ยตามการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ผู้ออกบัตรได้สำรองจ่ายให้ร้านค้า หรือตั้งแต่วันที่สรุปยอดรายการใช้จ่าย หรือตั้งแต่วันที่ครบกำหนดชำระก็ได้แต่โดยทั่วไปจะเริ่มคิดตั้งแต่วันที่ผู้ออกบัตรสำรองจ่ายเงินให้แก่ร้านค้า ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ คิดเต็มจำนวนจนถึงวันก่อนครบกำหนดชำระเงิน และคิดตามยอดคงค้าง (หักส่วนที่ชำระแล้วออก) นับจากวันที่ชำระจนถึงวันสรุปยอดถัดไป
(2) การเบิกถอนเงินสด จะเริ่มคำนวณตั้งแต่วันที่เบิกถอนเงินสดออกมา
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต
นอกจากนี้ อาจมีค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามข้อกำหนดของผู้ออกบัตรแต่ละแห่ง เช่น
ค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่งเราสามารถต่อรองกับผู้ออกบัตร เพื่อขอยกเว้นการเรียกเก็บได้ค่าธรรมเนียมในการชำระเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ ค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินสดผ่านบัตรเครดิต โดยผู้ออกบัตรเรียกเก็บค่าธรรมเนียมประเภทนี้ได้ไม่เกิน 3 % ของจำนวนเงินสดที่เบิกถอน และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งคิดจากยอดค่าธรรมเนียมการเบิกถอนด้วยค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินในการใช้บัตรเครดิตในต่างประเทศ 2 - 2.5 % ของอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามที่ได้จ่ายไปจริงและพอสมควรแก่เหตุ เช่น ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามหนี้ (ซึ่งจะต้องมีการติดตามทวงถามแล้วจึงเรียกเก็บได้)
ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ได้จาก
website แบงก์ชาติ หรือสอบถามข้อมูลจากผู้ออกบัตร
การชำระหนี้บัตรเครดิต
ผู้ถือบัตรต้องชำระหนี้ขั้นต่ำในแต่ละงวดไม่น้อยกว่า 10 % ของยอดคงค้างทั้งสิ้น โดยอาจชำระผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น
สาขาของสถาบันผู้ออกบัตรเครดิต
จุดบริการรับชำระเงินที่เป็นตัวแทนรับชำระ (บริการ Bill Payment) เช่น สาขาธนาคารอื่น Pay@Post เคาน์เตอร์เซอร์วิส
ช่องทางต่าง ๆ ของธนาคาร เช่น เครื่องเอทีเอ็ม อินเทอร์เน็ต ข้อตกลงให้หักจากบัญชีเงินฝาก (Debit Transfer)
ทั้งนี้ การชำระเงินในแต่ละช่องทางอาจมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป เช่น ค่าธรรมเนียม จำนวนเงินสูงสุดที่รับชำระ ดังนั้น ผู้ใช้บริการควรศึกษาค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขบริการก่อนใช้บริการ ตามที่ระบุในใบแจ้งยอดหนี้