คือการนำเงิน (ที่ระดมจากผู้ลงทุน) ไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ ตามนโยบายการลงทุนที่ได้ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน โดยผู้ลงทุนแต่ละรายจะได้รับ "หน่วยลงทุน (Investment Unit)" เป็นหลักฐานเพื่อยืนยันฐานะความเป็นเจ้าของในเงินที่ตนได้ลงทุนไป โดยมี
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน "บลจ." เป็นผู้จัดตั้งและทำหน้าที่บริหารกองทุนรวมให้ได้ผลตอบแทน แล้วนำมาเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ลงทุนแต่ละรายตามสัดส่วนที่ลงทุนหากเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายปันผล นอกจากนี้ หากราคาขายของหน่วยลงทุนสูงกว่าราคาซื้อหรือเรียกว่าเกิด Capital Gain ก็เป็นโอกาสที่จะขายหน่วยลงทุนออกเพื่อทำกำไรเช่นกัน ทั้งนี้ หากได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผลจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 แต่ไม่ต้องเสียภาษีในกรณีของ Capital Gain (ผลตอบแทนในรูปของส่วนต่างในกรณีที่ราคาขายสูงกว่าราคาซื้อ)
ประเภทของกองทุนรวม
การแบ่งประเภทกองทุนรวมแบ่งได้หลายลักษณะดังนี้
1. แบ่งตามลักษณะการจัดจำหน่าย และการไถ่ถอนคืนหน่วยลงทุน
กองทุนเปิด (Opened - End Fund)
คือกองทุนรวมที่อาจมีการกำหนดอายุโครงการหรือไม่ก็ได้ ที่สำคัญก็คือ บลจ. สามารถที่จะเสนอขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติมได้ (หลังจากที่มีการเสนอขายหน่วยลงทุนในครั้งแรกไปแล้ว) รวมถึงสามารถรับซื้อคืนหน่วยลงทุนจากผู้ลงทุนได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน โครงการ โดย ณ เวลาที่ทำรายการสั่งซื้อขาย ผู้ลงทุนจะยังไม่ทราบราคาซื้อขายหน่วยลงทุนในทันที แต่จะทราบเมื่อมีการคำนวณ NAV (Net Asset Value : มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ) ต่อหน่วยของกองทุน ณ สิ้นวันทำการ
กองทุนปิด (Closed - End Fund)
คือกองทุนรวมที่กำหนดอายุโครงการอย่างชัดเจนแน่นอน โดยผู้ลงทุนไม่สามารถที่
จะขายคืนหน่วยลงทุนให้แก่ บลจ. ก่อนครบกำหนดอายุโครงการได้ จะขายคืนเมื่อ
ครบกำหนดอายุโครงการเท่านั้น
2. แบ่งตามนโยบายการลงทุน
กองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund)
คือกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งทุน เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น (warrant) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund)
คือกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ประเภทต่าง ๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ตั๋วเงินคลัง หุ้นกู้ของภาคเอกชน
กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund)
คือกองทุนรวมที่กำหนดการดำรงอายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของกระแสเงินที่จะได้รับจากทรัพย์สินที่กองทุนรวมลงทุนไว้ (portfolio duration) ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่เกินสามเดือน โดยลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ที่มีกำหนดชำระเงินต้นเมื่อทวงถาม หรือมีอายุคงเหลือไม่เกินสามร้อยเก้าสิบเจ็ดวัน เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด
กองทุนรวมผสม (Balanced Fund)
คือกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์ เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ ตราสารทุน หรือตราสารอื่น ๆ โดยสัดส่วนการลงทุนตามนโยบายดังกล่าวขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบริษัทจัดการกองทุนตามความเหมาะสมกับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ หรือกำหนดสัดส่วนการลงทุนในตราสารแห่งทุนในขณะใดขณะหนึ่งน้อยกว่าร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
กองทุนรวมหน่วยลงทุน (Fund of Funds)
คือกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม (Sector Fund)
คือกองทุนรวมที่มุ่งลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงในหมวดอุตสาหกรรมเพียงบางหมวด โดยเฉลี่ยในรอบระยะเวลาบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น (Principle or Capital Protection Fund)
คือกองทุนรวมที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุนว่าเมื่อครบกำหนดอายุโครงการลงทุนหรือ ภายหลังระยะเวลาที่ได้ระบุไว้ ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าเงินลงทุนเบื้องต้นที่ได้ลงทุนไป
กองทุนรวมแบบมีประกัน (Guarantee Fund)
คือกองทุนรวมที่ บลจ. จัดให้มีบุคคลอื่นประกันว่าหากผู้ถือหน่วยลงทุนได้ถือหน่วยลงทุนจนครบตาม ระยะเวลาที่กำหนด ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับชำระเงินลงทุน หรือเงินลงทุนและผลตอบแทนจากการไถ่ถอนหรือการขายคืนหน่วยลงทุนแล้วแต่กรณี ตามจำนวนเงินที่ประกันไว้
กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF)
คือกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นสามัญจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้น โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังนี้
-
เงินลงทุนในกองทุน LTF สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ในปีภาษีนั้น และต้องไม่เกิน 500,000 บาท
-
กำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้
อย่างไรก็ตาม การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามที่กล่าวข้างต้น จะต้องทำตามเงื่อนไขของการลงทุนใน LTF ดังนี้
-
ต้องถือหน่วยลงทุนของ LTF ไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับตามปีปฏิทิน เช่น ยอดที่ซื้อในระหว่างปี 2556 จะครบเงื่อนไขตั้งแต่เดือนมกราคม 2560)
-
หากมีการขายคืนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนด 5 ปี ถือว่าผิดเงื่อนไขการลงทุน ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกต่อไป และจะต้อง
- คืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นไป โดยควรรีบทำทันที่ที่ผิดเงื่อนไข เนื่องจากต้องจ่าย "เงินเพิ่ม" ในอัตรา 1.5% ต่อเดือนของจำนวนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นนับตั้งแต่เดือนเมษายนของปีที่ผู้ลงทุนยื่นขอยกเว้นภาษี จนถึงเดือนที่มีการยื่นคืนเงินภาษี สำหรับกรณีขาย LTF คืนเพียงบางส่วน ให้คืนเฉพาะยอดที่ขายคืนพร้อม "เงินเพิ่ม"
- จ่ายภาษีของกำไรส่วนเกินทุน (capital gain) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ผิดเงื่อนไข โดยนำกำไรที่ได้รับจากการขายคืนไปรวมเป็นเงินได้ของปีที่ขายคืนเพื่อเสียภาษีเงินได้
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF)
คือกองทุนรวมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการออมเงินระยะยาวไว้สำหรับใช้จ่ายยามเกษียณอายุ ซึ่งจะคล้าย ๆ กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (Government Pension Fund) โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังนี้
-
เงินลงทุนในกองทุน RMF สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ในปีภาษีนั้น และเมื่อรวมกับเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้ว จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
-
กำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้
อย่างไรก็ตาม การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามที่กล่าวข้างต้น จะต้องทำตามเงื่อนไขของการลงทุนใน RMF ดังนี้
-
ลงทุนต่อเนื่องทุกปี โดยลงทุนขั้นต่ำอย่างน้อย 3% ของรายได้ในแต่ละปีหรือ 5,000 บาท แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะน้อยกว่า
-
สามารถซื้อหน่วยลงทุนปีเว้นปีได้
-
ต้อง ลงทุนและถือหน่วยลงทุนจนกระทั่งอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ รวมทั้งต้องลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก (นับ แบบวันชนวัน) เช่น ซื้อหน่วยลงทุนตอนอายุ 53 ปี ก็ต้องลงทุนต่อเนื่องไปจนครบ 5 ปี แม้อายุจะเกิน 55 ปี แล้วก็ตาม
-
การผิดเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งตามที่กล่าวข้างต้น ถือว่าผิดเงื่อนไขการลงทุนผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกต่อไป และจะต้อง
1. กรณีที่ลงทุนไม่ถึง 5 ปี และมีการผิดเงื่อนไข
- คืนเงินภาษีทั้งหมดทุกปีที่ได้รับยกเว้นไป
- เมื่อขายคืนหน่วยลงทุน ต้องนำกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน (capital gain) ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
2. กรณีที่ลงทุนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป และมีการผิดเงื่อนไข
- คืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นไปในช่วง 5 ปีย้อนหลัง (นับตามปีปฏิทิน)
** การชำระภาษี ตาม 1. และ 2. ต้องชำระภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ผิดเงื่อนไข และ/หรือขายคืนหน่วยลงทุนมิฉะนั้นต้องจ่ายเบี้ยปรับเงินเพิ่มอีก
กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund : FIF)
คือกองทุนรวมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเงินที่ระดมได้จากการขายหน่วยลงทุนภายในประเทศไทยไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund)
คือกองทุนรวมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเงินที่ระดมได้จากการขายหน่วยลงทุนไปลงทุนซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ เช่น อาคารสำนักงาน โรงแรม ศูนย์การค้า ที่พักอาศัย หรือหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อบริหารอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนในรูปของค่าเช่าหรือกำไรสุทธิที่เกิดจากการดำเนินงาน (ไม่ได้มุ่งที่จะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อพัฒนา และขายต่อแต่อย่างใด)
กองทุนรวม ETF (Exchange Traded Fund)
คือกองทุนเปิดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เปิดให้ซื้อขายหน่วยลงทุนได้เสมือนหุ้น มีนโยบายการลงทุนที่เน้นการสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงดัชนีอ้างอิง อาทิ ดัชนีราคาหุ้น ดัชนีราคาหุ้น SET50 ดัชนีราคาตราสารหนี้ โดยผู้ลงทุนสามารถซื้อหรือขายผ่านโบรกเกอร์ได้ในราคาและเวลาที่ต้องการ (Real Time) โดยไม่จำเป็นต้องรอ NAV (Net Asset Value : มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ) ต่อหน่วยของกองทุน ณ สิ้นวันทำการ
ความเสี่ยงทั่วไปของผู้ลงทุน
1. ความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) ที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงจนส่งผลให้ราคาของตราสารหนี้ที่กองทุนรวมเข้าไปลงทุนเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงในทิศทางตรงข้ามกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ย
|
2. ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะตลาดโดยรวม (Market Risk)- อาจส่งผลให้ราคาของหลักทรัพย์ต่าง ๆ ที่กองทุนรวมไปลงทุนมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงลดลง
|
3. ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (Political Risk) - อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหารประเทศและการลงทุนได้ ซึ่งจะกระทบบริษัทที่ประกอบธุรกิจ หรือในกรณีที่การเมืองมีความไม่แน่นอน อาจส่งผลให้ราคาของหลักทรัพย์ในตลาดลดลงหรือชะลอตัวได้
|
4. ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (Credit Risk) เช่น บริษัทที่ออกตราสารหนี้ที่กองทุนรวมเข้าไปลงทุนมีผลการดำเนินงานขาดทุน ทำให้ไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับกองทุนรวมตามเวลาที่กำหนดได้
|
5. ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง (Liquidity Risk) - เช่น หลักทรัพย์ที่ลงทุนไว้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือไม่มาก อาจทำให้ไม่สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ได้ในราคาหรือจำนวนที่ต้องการภายในช่วงเวลาอันเหมาะสม
|
6. ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนกรณีเป็นการลงทุนต่างประเทศ (Foreign Exchange Risk)-
อาจส่งผลให้ราคาของหลักทรัพย์ต่าง ๆ ที่กองทุนรวมไปลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลง เนื่องมาจากความผันผวนของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศสกุลอื่น ซึ่งสามารถเคลื่อนไหวขึ้นหรือลงได้ตลอดเวลา
|
ลิงก์ที่เกี่ยวข้อง 

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในหัวข้อห้องเรียนนักลงทุน/มือใหม่ลงทุน/ลงทุนกองทุนรวม