หมายถึงตราสารที่ให้สิทธิการเป็น
เจ้าหนี้ของกิจการ แก่ผู้ลงทุน ซึ่งในฐานะเจ้าหนี้ ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนหรือผลประโยชน์อื่น ๆ ตามที่ได้มีการกำหนดไว้ โดยผู้ออกตราสารหนี้จะระบุอัตราผลตอบแทน กำหนดวันจ่ายดอกเบี้ย และวันครบอายุหรือกำหนดไถ่ถอนตราสารไว้อย่างชัดเจน
ประเภทของตราสารหนี้
การแบ่งประเภทตราสารหนี้แบ่งได้หลายลักษณะดังนี้
1. แบ่งตามผู้ออกตราสาร
ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล
ซึ่งประกอบด้วย
1. ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) คือตราสารหนี้ระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี ที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ออกจำหน่าย เพื่อกู้ยืมเงินระยะสั้นจากประชาชน โดยตราสารหนี้ประเภทนี้จะไม่มีดอกเบี้ย แต่ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างระหว่างราคาขายกับจำนวนเงินตามหน้าตั๋วซึ่งต่ำกว่าราคาขาย เช่น ซื้อตั๋วเงินคลังที่มีราคาหน้าตั๋ว 100 บาท ในราคา 97 บาท เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ก็จะได้รับเงินตามหน้าตั๋ว 100 บาท ผลต่าง 3 บาท ก็จะเป็นผลตอบแทนที่ได้
2. พันธบัตรรัฐบาล เป็นตราสารหนี้ที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ออก ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ตราสารที่ออกโดยกระทรวงการคลังเป็นตราสารที่มีความเสี่ยงจากการผิดนัดการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้น (Default Risk) น้อย จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยง แต่ตราสารประเภทนี้ก็ยังมีความเสี่ยงด้านอื่น ๆ ที่ควรคำนึงถึง เช่น ความเสี่ยงด้านราคาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย
ตราสารหนี้ที่ออกโดยองค์กรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ
เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยองค์กรภาครัฐ เช่น พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หรือที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจ เช่น พันธบัตรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พันธบัตรรัฐวิสาหกิจบางแห่งมักได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ตราสารหนี้ประเภทนี้มีความเสี่ยงของการผิดนัดการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นต่ำ แต่ยังมีความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ความเสี่ยงด้านราคาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย
ตราสารหนี้ภาคเอกชน
เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชนเพื่อระดมทุนไปใช้ในการดำเนินกิจการ ตราสารหนี้ประเภทนี้มักถูกเรียกว่า “หุ้นกู้” โดยหุ้นกู้จะมีความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารอาจผิดนัดในการจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้น ดังนั้น เอกชนจึงต้องให้ผลตอบแทนที่มากกว่าตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่มีมากกว่า และยังมีความเสี่ยงด้านราคาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย
2. แบ่งตามสิทธิในการเรียกร้อง (Priority Claim)
หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated Bond หรือ Junior Bond)
ในกรณีที่ผู้ออกตราสารล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกตราสาร ในอันดับที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่น แต่จะสูงกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิและหุ้นสามัญซึ่งมีสิทธิเรียกร้องเป็นอันดับสุดท้าย
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Bond)
ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกตราสาร ทัดเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ และสูงกว่าผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิและผู้ถือหุ้นสามัญตามลำดับ
3. แบ่งตามการใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน
หุ้นกู้มีหลักประกัน (Secured Bond)
หมายถึง หุ้นกู้ที่ผู้ออกตราสารนำสินทรัพย์มาค้ำประกันการออกหุ้นกู้ และผู้ถือจะมีบุริมสิทธิเต็มที่ในสินทรัพย์ที่วางเป็นประกันนั้นเหนือเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ โดยปกติในทางปฏิบัติมักจะมีการตั้งบุคคลทำหน้าที่เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ (Bond Holder Representative) เพื่อทำการตรวจสอบสถานะของสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน
หุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน (Unsecured Bond)
หมายถึง หุ้นกู้ที่ไม่มีสินทรัพย์ใด ๆ วางไว้เป็นประกันในการออก ซึ่งหากผู้ออกตราสารล้มละลายต้องทำการแบ่งสินทรัพย์กับเจ้าหนี้รายอื่นตามสิทธิและสัดส่วน
4. แบ่งตามวิธีการจ่ายดอกเบี้ย
ตราสารหนี้ชนิดจ่ายดอกเบี้ยประจำ
เป็นตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยเป็นงวดตามที่กำหนดไว้ในตราสารหนี้ โดยทั่วไปจ่ายปีละ 2 ครั้ง ทุกงวด 6 เดือน ตลอดอายุของตราสารหนี้
ตราสารหนี้ชนิดทบดอกเบี้ย
เป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยระหว่างงวด แต่จะจ่ายให้เมื่อตราสารหนี้ครบกำหนด โดยทั่วไปดอกเบี้ยที่จ่ายเมื่อครบกำหนดอายุจะคำนวณทบต้นปีละ 2 ครั้ง
ตราสารหนี้ที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย
(Zero-Coupon Bond)
คือตราสารหนี้ที่ไม่มีดอกเบี้ยแต่จะขายต่ำกว่าราคาที่ตราไว้ และเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนจะได้รับเงินคืนเต็มราคาที่ตราไว้ ส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาที่ได้รับจากการไถ่ถอนเป็นผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุน
5. แบ่งตามลักษณะการถือกรรมสิทธิ์
ตราสารหนี้ชนิดจ่ายเงินแก่ผู้ถือ (Bearer Bond)
เป็นตราสารหนี้ที่จ่ายเงินให้แก่ผู้ถือตราสารหนี้หรือบัตรดอกเบี้ย ตราสารหนี้ชนิดนี้จะมีบัตรดอกเบี้ยติดกับตัวตราสารหนี้ และโอนกรรมสิทธิ์กันได้โดยการส่งมอบ
ตราสารหนี้ชนิดจดทะเบียน
(Registered Bond)
เป็นตราสารหนี้ที่จ่ายเงินให้แก่ผู้มีชื่อในตราสารหนี้และต้องจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ไว้ที่นายทะเบียน การโอนกรรมสิทธิ์ต้องกระทำโดยการจดทะเบียน ตราสารหนี้ชนิดนี้ไม่มีบัตรดอกเบี้ย แต่จะจ่ายดอกเบี้ยโดยการนำเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารตามที่แจ้งความจำนงไว้
ตราสารหนี้ชนิดจดบัญชี (Inscribed Bond)
เป็นตราสารหนี้ที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่มีตราสารหนี้ไว้ครอบครอง แต่ฝากไว้กับนายทะเบียนซึ่งจะออกใบรับให้แก่ผู้จดบัญชี การจ่ายดอกเบี้ยกระทำโดยการนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากที่ธนาคารตามที่แจ้งความจำนงไว้ การโอนกรรมสิทธิ์ต้องกระทำเป็นหนังสือแจ้งต่อนายทะเบียน
6. แบ่งตามชนิดของอัตราดอกเบี้ย
ตราสารหนี้จ่ายดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate Bond)
เป็นหุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ตามที่กำหนดไว้
ตราสารหนี้จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate Bond)
เป็นหุ้นกู้ที่อัตราดอกเบี้ยมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามอัตราอ้างอิงที่กำหนด เช่น อัตรา MLR+ 1%
ความเสี่ยงของผู้ลงทุน
1. ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (Credit Risk)
เกิดจากความไม่แน่นอนว่าบริษัทผู้ออกตราสารหนี้จะสามารถจ่ายคืนผู้ลงทุนตามที่กำหนดไว้ในตราสารหนี้ได้หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นพันธบัตรรัฐบาลก็จะมีความเสี่ยงประเภทนี้น้อยกว่าหุ้นกู้ของเอกชน
2. ความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk)
เนื่องจากตราสารหนี้ส่วนใหญ่จะให้ผลตอบแทนในลักษณะการจ่ายดอกเบี้ยที่แน่นอนให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งหากอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ราคาของตราสารหนี้ในปัจจุบันก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วยในทิศทางที่ตรงข้ามกัน แต่ถ้าผู้ลงทุนถือตราสารหนี้จนครบกำหนด ก็จะได้รับเงินต้นและดอกเบี้ยคืนตามที่กำหนดในตราสารหนี้นั้น
3. ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง (Liquidity Risk)
คือความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนไม่สามารถซื้อหรือขายสัญญาตราสารหนี้ในเวลาและราคาที่ต้องการได้
ลิงก์ที่เกี่ยวข้อง

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในหัวข้อ สินค้า/บริการ (ตราสารหนี้)