สหกรณ์
เป็นองค์กรที่สมาชิกร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยการลงหุ้นร่วมกันและจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์ดูแลส่งเสริมคุณภาพและมาตรฐานในการให้บริการ และมีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ดูแลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านการเงินและบัญชี
สหกรณ์มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันจัดการในการผลิต การจำหน่ายสินค้า หรือให้บริการตามความต้องการหรือผลประโยชน์อย่างเดียวกันของสมาชิก ซึ่งสมาชิกแต่ละคนมีสิทธิ์ออกเสียงได้หนึ่งเสียง โดยไม่ขึ้นกับจำนวนหุ้นที่ถืออยู่
สหกรณ์แบ่งเป็น 7 ประเภทตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง
(รายชื่อสหกรณ์) ได้แก่
 |
สหกรณ์การเกษตร จัดตั้งขึ้นเพื่อให้สมาชิกดำเนินธุรกิจร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และช่วยเหลือส่วนรวม ทั้งในเรื่องของการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร การให้สินเชื่อ การรวบรวมผลิตผลของสมาชิกมาจัดการจำหน่าย |
 | สหกรณ์ประมง จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้ทางด้านวิชาการ และดำเนินธุรกิจเพื่อส่งเสริมอาชีพประมงทั้งการจำหน่ายสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุปกรณ์ประมง |
 |
สหกรณ์นิคม จัดตั้งขึ้นเพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้สมาชิก จัดสร้างปัจจัยพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก จัดหาสินเชื่อ ปัจจัยการผลิตและสิ่งของที่จำเป็น การส่งเสริมอาชีพ การแปรรูปการเกษตร รวมทั้งกิจการให้บริการสาธารณูปโภคแก่สมาชิก |
 | สหกรณ์ร้านค้า จัดตั้งขึ้นเพื่อจัดหาสินค้า เครื่องอุปโภคบริโภคมาจำหน่ายแก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป |
 | สหกรณ์ออมทรัพย์ จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักการออม และให้กู้ยืมเมื่อเกิดความจำเป็น |
 |
สหกรณ์บริการ จัดตั้งขึ้นโดยสมาชิกที่มีอาชีพเดียวกันได้รับความเดือดร้อนในเรื่องเดียวกัน เพื่อรู้จักช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือสมาชิกด้วยกัน |
 |
สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จัดตั้งขึ้นโดยสมาชิกที่อยู่ในวงสัมพันธ์เดียวกัน เช่น อาศัยในชุมชนเดียวกันประกอบอาชีพเดียวกัน หรือมีกิจกรรมร่วมกัน เพื่อรู้จักช่วยเหลือตนเองอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นให้สมาชิกประหยัดและเก็บออม |
บริษัทเช่าซื้อ (Hire Purchase)
เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจให้เช่าทรัพย์สิน โดยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะเป็นของผู้เช่าซื้อเมื่อชำระเงินครบตามสัญญา กล่าวคือจะมีการทำสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างผู้เช่าซื้อกับบริษัทเช่าซื้อ (ผู้ให้เช่า) ว่าจะชำระค่าเช่าเป็นงวด ๆ ตามจำนวนเงินและระยะเวลาที่กำหนด โดยระหว่างนั้นผู้เช่าซื้อสามารถนำสินค้าหรือทรัพย์สินนั้นมาใช้งานได้ก่อน แต่กรรมสิทธิ์ยังเป็นของผู้ให้เช่า จนกว่าจะจ่ายเงินครบตามสัญญาจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์นั้นมาเป็นของผู้เช่าซื้อ เช่น การเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า
บริษัทแฟ็กเตอริง (Factoring)
เป็นบริษัทที่รับซื้อลูกหนี้การค้าจากผู้ขายสินค้า โดยผู้ขายสินค้าจะโอนสิทธิในลูกหนี้การค้าให้แก่บริษัทแฟ็กเตอริง ทั้งนี้ การซื้อสิทธิในลูกหนี้การค้าอาจเป็นการซื้อเต็มจำนวน หรือบางส่วนแล้วแต่จะตกลงกัน โดยส่วนใหญ่ราคาที่รับซื้อจะเป็นราคาคิดลด ซึ่งอาจรวมถึงค่าธรรมเนียมในการบริหารบัญชีลูกหนี้ ค่าใช้จ่ายการเรียกเก็บหนี้เมื่อครบกำหนด
(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อสินเชื่อแฟ็กเตอริง)
บริษัทลีสซิ่ง (Leasing)
เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจให้เช่าทรัพย์สิน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับบริษัทเช่าซื้อคือ จะต้องชำระเงินค่าเช่าเป็นงวด ๆ ตามจำนวนเงินและเวลาที่กำหนด แต่เมื่อสิ้นสุดสัญญาผู้เช่าสามารถเลือกได้ว่า จะซื้อ หรือต่อสัญญาเช่า หรือส่งคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้ให้เช่า ส่วนใหญ่จะเป็นการเช่าทรัพย์สินที่มีราคาแพงหรือเช่าสินทรัพย์ในปริมาณมาก เช่น เครื่องจักร รถยนต์ หรือสินค้าที่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร
โรงรับจำนำ
คือองค์กรที่ให้บริการเงินกู้แก่ประชาชนในวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาทต่อรายต่อครั้ง โดยที่ผู้กู้หรือผู้จำนำจะต้องนำสิ่งของมามอบให้โรงรับจำนำ เพื่อเป็นหลักประกัน โดยมีข้อปฏิบัติในการรับจำนำ ดังนี้
-
ผู้จำนำต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป และไม่เป็นพระภิกษุหรือสามเณร
-
ห้ามเป็นสิ่งของทางราชการ หรือของที่ถูกขโมยมาขาย
-
ห้ามจำนำในระหว่างเวลา 18.00 น. – 8.00 น.
-
ทำบัญชีทรัพย์สินที่ผู้จำนำขาดการส่งดอกเบี้ยเป็นเวลา 4 เดือน และแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ออกใบอนุญาต รวมทั้งปิดประกาศอย่างเปิดเผย ทั้งนี้ ถ้าผู้จำนำไม่มาไถ่ถอนภายใน 30 วันนับจากวันปิดประกาศ สิ่งของก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงรับจำนำหรือเรียกว่าหลุดจำนำทันที
-
มูลค่าการรับจำนำขึ้นกับประเภทของสิ่งของและประเภทของสถานที่ให้บริการ
-
อัตราดอกเบี้ยขึ้นกับมูลค่าของเงินต้นที่จำนำ และสถานที่ให้บริการ แต่ห้ามเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
โรงรับจำนำแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
-
1. โรงรับจำนำของรัฐบาล ซึ่งแบ่งย่อยเป็น 2 ประเภทคือ
-
1.1 สถานธนานุบาล อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานครหรือเทศบาล คิดอัตราดอกเบี้ย ดังนี้
-
-
เงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อเดือนเงินต้น 5,001 – 15,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1.00 ต่อเดือนเงินต้น 15,000 บาทขึ้นไป คิดอัตราดอกเบี้ยดังนี้ - 2,000 บาทแรก ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน
-
- ส่วนที่เหลือ ดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 ต่อเดือน
-
1.2 สำนักงานธนานุเคราะห์ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คิดอัตราดอกเบี้ย ดังนี้
-
เงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อเดือนเงินต้น 5,001 - 25,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 ต่อเดือนเงินต้น 25,001 – 100,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน
-
2. โรงรับจำนำเอกชน
อัตราดอกเบี้ยจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการแต่ละแห่ง -
ทั้งนี้ การคิดดอกเบี้ยของโรงรับจำนำทั้งของรัฐบาลและเอกชน จะต้องไม่สูงกว่าอัตราที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 คือ
-
เงินต้นไม่เกิน 2,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน
-
เงินต้นส่วนที่เกิน 2,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 ต่อเดือน
กลุ่มการเงินระดับฐานราก
เกิดจากการรวมตัวกันของประชาชนในชุมชนเดียวกันหรือกลุ่มอาชีพเดียวกัน เพื่อจัดตั้งกลุ่มการเงินที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับสหกรณ์คือให้บริการเงินฝาก เงินกู้ หรือสวัสดิการแก่สมาชิก โดยมีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ องค์กรการเงินชุมชน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ได้รับการดูแลและสนับสนุนโดยทางการ เช่น กองทุนหมู่บ้าน ชุมชนเมืองแห่งชาติ และสถาบันการเงินชุมชน
ลิงก์ที่เกี่ยวข้อง
กรมส่งเสริมสหกรณ์กรมตรวจบัญชีสหกรณ์สถานธนานุบาลอัตราดอกเบี้ย (สถานธนานุบาล)สำนักงานธนานุเคราะห์