Skip Ribbon Commands
Skip to main content

 แบงก์ชาติกับปฏิบัติการแก้หนี้ เพื่อลดภาระให้คนไทย

ในภาวะที่ปัญหาหนี้ของครัวเรือนไทยยังรุนแรงและเศรษฐกิจไทยปีนี้ต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนลดลง แบงก์ชาติจึงให้ความสำคัญอย่างมากกับการช่วยเหลือประชาชนแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยเรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญลำดับต้น ๆ ของแบงก์ชาติในปี 2563 นี้ ซึ่งครอบคลุมหลายมิติ

โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ทำให้นักระบาดวิทยาแนะนำให้ประชาชนลดการติดต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันแทบทุกอย่างในสังคมลง ซึ่งผลข้างเคียงคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เคยหมุนเร็วกลับหยุดนิ่ง มาตรการลดการแพร่ระบาดก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้างและรุนแรง แบงก์ชาติในฐานะธนาคารกลางของประเทศได้ดำเนินมาตรการในหลายด้านเพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจ และบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 ซึ่งสามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มมาตรการประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 มาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง กลุ่มที่ 2 มาตรการดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และกลุ่มที่ 3 มาตรการรับข้อร้องเรียนและช่วยแก้ปัญหาของประชาชนรายบุคคล


รายละเอียดเพิ่มเติม >>

บทความ-แบงก์ชาติกับปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงโควิด 19
บทความ-แบงก์ชาติกับปฏิบัติการแก้หนี้เพื่อลดภาระให้คนไทย
คลิป-Brownbag Talk แบงก์ชาติกับภารกิจกู้ชีพลูกหนี้รายย่อย (ใช้เฉพาะภายใน ธปท.)
เอกสาร-Brownbag Talk แบงก์ชาติกับภารกิจกู้ชีพลูกหนี้รายย่อย (ใช้เฉพาะภายใน ธปท.)



เปลี่ยนมุมมองการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อป้องกันวิกฤตหนี้รายย่อยหนี้เสียเป็นภาระของสังคมโดยรวม ไม่ใช่แค่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้คลินิกแก้หนี้เฟส 3 เดินหน้าเปิดรับทุกกลุ่มความพิเศษ 2 เรื่องของคลินิกแก้หนี้ เอื้อให้การแก้หนี้บัตรสำเร็จโครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรดี สำหรับผู้มีวินัยและประวัติดีPreemptive debt restructuring เน้นการปรับหนี้เชิงป้องกันปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับหนี้ให้เอื้อต่อการปรับโครงสร้างหนี้ และเป็นธรรมขึ้นคำถาม-คำตอบ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้โครงการคลินิกแก้หนี้ เพื่อลดภาระและลดความกังวลใจเกี่ยวกับการชำระหนี้ทางด่วนแก้หนี้ : เปิดช่องทางเสริมสู่ความร่วมมือระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ สู้ภัยเศรษฐกิจจากโควิด 19แหล่งเงินกู้ยืมที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ที่ประชาชนอาจเข้าถึงได้

squid


เปลี่ยนมุมมองการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อป้องกันวิกฤตหนี้รายย่อย

ในการจัดทำแผนปรับโครงสร้างหนี้ เจ้าหนี้พึงคำนึงถึงความสามารถของลูกหนี้ที่ได้เปลี่ยนไปเป็นอันดับแรก ซึ่งรายได้ที่หดหายไปนั้นจะไม่กลับมาเท่าเดิมได้ในเร็ววัน ดังนั้น การที่เจ้าหนี้ลูกหนี้จะก้าวไปด้วยกันครั้งใหม่ภายหลังปรับโครงสร้างหนี้ จะต้องอาศัยความพยายามยื่นมือให้โอกาสโดยฝั่งเจ้าหนี้ค่อนข้างมาก รวมทั้งลดเป้ากำไรที่เคยตั้งไว้ภายใต้สถานการณ์ปกติแบบเดิมลง

แนวทางดำเนินการที่สำคัญที่จะทำให้การปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จยั่งยืน ประกอบด้วย
(1) ทำทางลาด หรือการปรับโครงสร้างหนี้ที่ผ่อนปรนค่างวดที่ลูกหนี้ต้องจ่ายในช่วงแรก แล้วค่อย ๆ ทยอยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากลูกหนี้จ่ายชำระได้มากกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรการช่วยเหลือพื้นฐานขั้นต่ำ เจ้าหนี้ควรลดดอกเบี้ยให้เพิ่มเติม เพื่อนำไปตัดต้นเงินได้มากขึ้น
(2) สร้างทางสายใหม่ คือให้ยืดระยะการจ่ายชำระหนี้ให้ยาวขึ้นเพียงพอ อย่างที่ลูกหนี้ไม่ต้องพะวักพะวนว่าจะต้องมาปรับโครงสร้างหนี้ซ้ำอีก
(3) สร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ปฏิบัติตามเส้นทางใหม่ มีกำลังใจชำระหนี้ให้หมดเร็ว ซึ่งทำได้หลายวิธี อาทิ ให้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม เมื่อลูกหนี้ต้องการสภาพคล่องหล่อเลี้ยงและสร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจ ทยอยยกดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ของเก่า การปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ให้ตัดส่วนเงินต้นก่อนบ้างบางเวลา หรือมีแคมเปญ cash back สำหรับลูกหนี้ที่ชำระสม่ำเสมอ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในการออกแบบแผนการปรับโครงสร้างหนี้ หากไม่ใช้ลูกหนี้เป็นที่ตั้ง สุดท้ายต้องกลับมาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่หลายหน ไม่เป็นผลดีต่อทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ลูกหนี้เองก็เสี่ยงต้องปรับโครงสร้างหนี้หลายครั้ง ติดประวัติในบูโร เจ้าหนี้ก็อาจมีภาระสำรองเพิ่มขึ้น การสรรค์สร้างทางสายใหม่ที่มีเจ้าหนี้และลูกหนี้เป็นเพื่อนร่วมทางคอยประคับประคองกันไปตลอดคือ new norm ของการปรับโครงสร้างหนี้ที่น่าจะลองทำดู!


รายละเอียดเพิ่มเติม >> บทความ- New Road ปรับโครงสร้างหนี้



หนี้เสียเป็นภาระของสังคมโดยรวม ไม่ใช่แค่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้

นอกจากการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว “กระบวนการไกล่เกลี่ย” เป็นอีกเรื่องที่แบงก์ชาติจะให้ความสำคัญในยุคหลังโควิด เนื่องจากการฟ้องบังคับคดีมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยมีคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลทั่วประเทศรวมเกือบ 2 ล้านคดี นอกจากนี้คดีที่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดีแพ่ง (การฟ้องยึดทรัพย์และอายัดเงินเดือน) ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคดีแพ่งส่วนใหญ่จะมาจากปัญหาหนี้ของประชาชนรายย่อย ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากหลายคนถูกเลิกจ้าง หรือประกอบอาชีพมีรายได้น้อยลง ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสิน และอาจก่อให้เกิดข้อพิพาทที่เกิดจากการผิดสัญญาต่างๆ จนนำมาซึ่งการฟ้องร้องต่อศาลมากขึ้น ซึ่งนอกจากลูกหนี้จะมีความเครียดจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแล้ว สถาบันการเงินเจ้าหนี้ก็ยังไม่แน่ว่าจะได้รับการชำระหนี้ด้วย หรือหากดำเนินไปถึงการถูกยึดทรัพย์และอายัดเงินเดือนก็คงไม่ทำให้ลูกหนี้รายนั้นดำรงชีวิตหรือประกอบอาชีพการงานได้อย่างเป็นปกติสุข ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และเป็นต้นทุนทางสังคม


รายละเอียดเพิ่มเติม >> บทความ-ความสำคัญทางเศรษฐกิจของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในยุคโควิด 19



คลินิกแก้หนี้เฟส 3 เดินหน้าเปิดรับทุกกลุ่ม

คลินิกแก้หนี้ซึ่งแบงก์ชาติได้ริเริ่มขึ้นและเปิดดำเนินการแก้หนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคลที่เป็นหนี้เสียได้เดินหน้าเข้าสู่โครงการในระยะที่ 3 ในปี 2563 โดยได้ปรับกฎเกณฑ์ให้สามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้บัตรให้ประชาชนได้กว้างขึ้นครอบคลุมหนี้บัตรแทบทุกกรณี ทั้งคดีแดง และหนี้บัตรเสียที่มีเจ้าหนี้รายเดียว


ความพิเศษ 2 เรื่องของคลินิกแก้หนี้ เอื้อให้การแก้หนี้บัตรสำเร็จ

1. ถึงแม้ลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายรายแต่ลูกหนี้ติดต่อ บสส. เพียงแค่ที่เดียว และเจ้าหนี้ในโครงการจะหยุดทวงถามหนี้ทันที
2. ลูกหนี้จะได้รับข้อเสนอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ผ่อนปรนเป็นพิเศษ คือ ดอกเบี้ย 4 – 7% (พิเศษ 2-7% เดือน เม.ย. – ก.ย. – 2563) ผ่อนนานถึง 10 ปี ยอดที่ต้องผ่อนต่อเดือนจะไม่สูง เช่น ถ้ามีหนี้ 1 แสนบาท ยอดผ่อนต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 1,200 บาทเท่านั้น และ เมื่อผ่อนชำระเสร็จสิ้นตามสัญญาจะยกดอกเบี้ยค้างชำระหนี้เดิมให้ทั้งหมด

รายละเอียดเพิ่มเติม >>
ข่าว ธปท. คลินิกแก้หนี้ เฟส 3
แถลงข่าว คลินิกแก้หนี้ เฟส 3
สไลด์เปิดโครงการคลินิกแก้หนี้ เฟส 3
บทสัมภาษณ์นางสาวไทย
บทสัมภาษณ์ ผก2. กับ workpoint
คลิป-แนะนำคลินิกแก้หนี้ (เผยแพร่โดยสภาอุตสาหกรรม)



โครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรดี สำหรับผู้มีวินัยและประวัติดี

ปัจจุบันการคิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ยังไม่สามารถแบ่งกลุ่มลูกหนี้ตามคุณภาพและความเสี่ยงที่ต่างกันได้ ผู้ให้บริการสินเชื่อบัตรส่วนใหญ่คิดดอกเบี้ยใกล้เพดานสูงสุดที่ 18% หรือ 28% แบงก์ชาติจึงพยายามผลักดันให้ตลาดรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ลูกหนี้ที่มีวินัยและมีประวัติการผ่อนชำระดี
มีต้นทุนการใช้บัตรที่ถูกลงเป็นรางวัลสมกับที่พึงจะได้รับ รวมทั้งการที่ลูกหนี้ดีมีทางเลือกที่ดียิ่งขึ้น จะช่วยป้องกันและลดปัญหาที่เกิดจากลูกหนี้ดีไม่มีทางเลือก จึงจงใจผิดนัดชำระหนี้หรือ ปัญหา moral hazard ด้วย

รายละเอียดเพิ่มเติม >> ช่องทางรีไฟแนนซ์สินเชื่อบัตร อัตราดอกเบี้ยต่ำ


Preemptive debt restructuring เน้นการปรับหนี้เชิงป้องกัน

ตั้งแต่ต้นปี 2563 เราอาจได้ยินข่าวมาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ให้ผู้ประกอบการ SME ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับปัจจัยลบหลายด้าน ได้แก่ ภัยแล้ง งบประมาณเบิกจ่ายล่าช้า สงครามการค้า ตลอดจนการระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19)

ดร.วิรไท ผู้ว่าการ ธปท. ได้กล่าวว่า ในอดีตเมื่อพูดถึงการแก้ไขปัญหาหนี้จะเน้นที่ “การแก้หนี้เสีย” หรือ “หนี้ที่เป็น NPL” แล้ว แต่ในรอบนี้จะเน้น “มาตรการเชิงป้องกัน” (Preemptive debt restructuring) เพื่อป้องกันไม่ให้หนี้คุณภาพดีไหลลงเป็นหนี้เสีย หรือเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง เพราะหากปล่อยไว้ เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวปกติ ธุรกิจหรือลูกจ้างเหล่านี้อาจไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้

ทั้งนี้ แบงก์ชาติได้ขอให้สถาบันการเงินตั้งทีมพิเศษขึ้นมาเพื่อเกาะติดสถานการณ์ และเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้อย่างทันท่วงที รวมทั้งออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป รองรับผลกระทบจาก COVID-19 ที่รุนแรงขึ้นและขยายวงกว้างขึ้น สถาบันการเงินจึงมีมาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้เพื่อช่วยเหลือและลดภาระให้ประชาชนและธุรกิจในหลายรูปแบบ เช่น การพักชำระเงินต้น หรือการพักชำระดอกเบี้ย ซึ่งนอกจากประชาชนควรจะได้ติดตามข่าววิธีผ่อนปรนของสถานบันการเงินแล้ว ยังควรตระหนักชัดเจนด้วยว่าแต่ละวิธีหมายถึงอะไร และเมื่อจบช่วงผ่อนปรนแล้ว ยอดหนี้คงเหลือของแต่ละวิธีจะเป็นอย่างไร รวมทั้งถ้าต้องเลือกระหว่างผ่อนชำระตามปกติ หรือใช้มาตรการผ่อนปรน จะเลือกทางไหนดี

รายละเอียดเพิ่มเติม >>
มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน 1
มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน 2
บทความ-แนวทางปรับโครงสร้างหนี้ 1

บทความ-แนวทางปรับโครงสร้างหนี้ 2
คลิป-แนะนำทางด่วนแก้หนี้ (เผยแพร่โดยสภาอุตสาหกรรม)
คลิป-ปรับโครงสร้างหนี้ 101 (facebook) - (youtube)



ปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับหนี้ให้เอื้อต่อการปรับโครงสร้างหนี้ และเป็นธรรมขึ้น

ปรับโมเดลของ บสย.ให้เอื้อต่อการแก้หนี้ ไม่ต้องฟ้องก่อนเคลม
งานอีกเรื่องสำคัญ คือ การปรับรูปแบบการดำเนินการของ บสย. หรือ ซึ่งเดิมอาจถูกเน้นในฐานะเป็นกลไกค้ำประกันที่จะช่วยให้สถาบันการเงิน (สง.) ปล่อยสินเชื่อแก่ SME มากขึ้น โดยอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับขั้นตอนหลังจากนั้นเท่าที่ควร เช่น ในขั้นตอนเบิกเคลมเดิม สง. ต้องฟ้องลูกหนี้ก่อน บสย.ถึงจะพิจารณาจ่ายเงินชดเชยได้ แต่ตามโมเดลการทำงานใหม่เราได้ปรับให้สามารถใช้หนังสือ notice แทน เพื่อลดผลกระทบจากการที่ลูกค้าถูกดำเนินคดีโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ บสย.ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับค้ำประกันสินเชื่อ working cap เพื่อสนับสนุนให้ สง. ให้เงินทุนหมุนเวียนแก่ลูกหนี้เพิ่มเติม

ปรับวิธีการคิดค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยปรับผิดนัดชำระ ให้เป็นธรรมขึ้น
แบงก์ชาติได้สั่งการให้สถาบันการเงินปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมใน 3 เรื่องสำคัญ เพื่อเป็นการลดภาระประชาชนและปรับปรุงให้เป็นธรรมมากขึ้น และให้ความสำคัญกับ Affordability Risk อย่างเป็นรูปธรรม โดยเรื่องที่สำคัญมากและเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้ คือ การปรับปรุงวิธีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งแต่เดิมจะคำนวณจากฐานของ "เงินต้นที่เหลือทั้งหมด" ให้คิดบนฐานของ "เงินต้นในงวดที่ผิดนัดจริง"

รายละเอียดเพิ่มเติม >>
การประชุมซักซ้อมการปรับวิธีคิดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม (ม.ค. 2563)
หนังสือเวียน การปรับวิธีคิดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม (ม.ค. 2563)


คำถาม-คำตอบ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้โครงการคลินิกแก้หนี้ เพื่อลดภาระและลดความกังวลใจเกี่ยวกับการชำระหนี้

คำถาม

คำตอบ

1. จุดประสงค์ ระยะเวลาของมาตรการ และผู้ที่ได้รับสิทธิตามมาตรการนี้

  • ​มาตรการนี้มุ่งลดภาระดอกเบี้ยจ่ายและลดความกังวลใจของลูกหนี้ในโครงการคลินิกแก้หนี้ที่รายได้ลดและกังวลใจว่าจะจ่ายหนี้ไม่ได้
  • เป็นระยะเวลา 6 เดือน เมษายน-กันยายน 2563
  • ลูกหนี้ของโครงการคลินิกแก้หนี้ได้รับสิทธิทุกคน
2. ​ต้องทำอะไรบ้าง เพื่อรับสิทธิตามมาตรการครั้งนี้
  • ลูกหนี้ของโครงการทุกคนได้รับสิทธิโดยอัตโนมัติ
  • ไม่ต้องโทรมาที่ Call Center เพื่อขอรับสิทธิ
​3. การเลื่อนกำหนดชำระค่างวด คืออะไร และมีผลอย่างไร
  • การเลื่อนกำหนดชำระค่างวดออกไป 6 เดือนจาก เม.ย. 2563 เป็นกันยายน 2563
  • ในช่วง 6 เดือนนี้ โครงการฯ ผ่อนปรนถ้าไม่สามารถจ่ายค่างวดได้เต็มจำนวน จะไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ และไม่เสียประวัติในฐานข้อมูลเครดิต
  • การเลื่อนกำหนดชำระค่างวด เป็นเพียงการผ่อนปรนเลื่อนวันครบกำหนดชำระออกไปเท่านั้น ภาระที่จะคืนยังมีอยู่เหมือนเดิม ในช่วงนี้แม้ว่าจะไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแต่ดอกเบี้ยยังเดินอยู่ตามปกติ
​4. ช่วง 6 เดือนนี้ถ้าจ่ายงวดได้ไม่ครบ จะมีผลต่อประวัติการผ่อนชำระในฐานข้อมูลเครดิตบูโรหรือไม่
  • วันกำหนดชำระค่างวดได้เลื่อนออกไป 6 เดือน
  • ดังนั้น ในช่วงนี้ถ้าจ่ายค่างวดได้ไม่ครบ หรือจ่ายไม่ได้เลย จะไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ ประวัติจึงไม่เสีย
​5. สำหรับลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพ ที่สามารถจ่ายได้ตามปกติควรจะทำอย่างไร?
  • ถ้าท่านเป็นลูกหนี้ที่มีศักยภาพ มีเงินพอที่จะชำระหนี้ตามแผนเดิม ท่านควรจ่ายชำระตามแผนเดิม เพราะจะทำให้ภาระหนี้ของท่านลดลง
  • การผ่อนชำระเข้ามาตามปกติในช่วง เม.ย.-ก.ย.63 จะทำให้ได้รับสิทธิพิเศษลดดอกเบี้ย 2% จากอัตราปกติ
  • มาตรการผ่อนปรนการชำระค่างวดเป็นเพียงการผ่อนปรนเลื่อนกำหนดชำระออกไปเท่านั้น และ ช่วงที่เลื่อนออกไปยังคิดดอกเบี้ยตามปกติ
​6. มาตรการผ่อนปรนในครั้งนี้หมายความว่า ลูกหนี้ที่มีศักยภาพไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ตามปกติ ใช่หรือไม่
  • ไม่ใช่ ลูกหนี้ที่มีศักยภาพยังคงสามารถชำระได้ตามปกติ มาตรการในครั้งนี้มุ่งบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ที่จ่ายไม่ได้เป็นสำคัญ

​7. ทำอย่างไรเพื่อที่จะทำให้ได้รับสิทธิการลดดอกเบี้ยให้ 2 % ? ต้องจ่ายชำระค่างวดเท่าไรถึงจะได้รับสิทธินี้?

  • ลูกหนี้ของโครงการที่มีการผ่อนชำระเข้ามาต่อเนื่องในช่วง เม.ย.-ก.ย. 2563 จะได้รับการปรับลดดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องโทรมาเพื่อขอรับสิทธิ
  • ทุกท่านที่มีการจ่ายชำระค่างวดเข้ามาจะได้รับสิทธิลดดอกเบี้ย แต่อย่างไรก็ดี โครงการแนะนำว่าให้จ่ายชำระเข้ามาครึ่งหนึ่งถ้าทำได้

​8. ปัจจุบันยังไม่ได้เข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ แต่สนใจและจะสมัครช่วง

เม.ย.-ก.ย. 63 จะสามารถได้รับสิทธิตามมาตรการที่ประกาศหรือไม่

  • ผู้สนใจจะได้รับสิทธิตามมาตรการถ้าสมัครในระยะ 6 เดือนที่กำหนด
  • อยากจะแนะนำให้รีบสมัคร จะได้ลดภาระดอกเบี้ยจ่ายลงค่อนข้างมาก และอัตราดอกเบี้ยที่โครงการคิดถือว่าผ่อนปรนมากเมื่อเทียบกับอัตราปกติในตลาด และยังสามารถผ่อนชำระได้นานถึง 10 ปี
​9. ผู้ที่เคยเป็นลูกหนี้ในโครงการ แต่ด้วยเหตุจำเป็น ทำให้ไม่สามารถจ่ายและต้องออกจากโครงการไป จะสามารถรับสิทธิตามโครงการได้หรือไม่
  • ปัจจุบันมีการผ่อนปรนให้ลูกหนี้ที่ออกจากโครงการไปในช่วงปี 2560-61 ให้สามารถกลับเข้าโครงการได้โดยจะได้ข้อเสนอเหมือนเดิมทุกอย่าง ไม่ต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติม
  • และถ้ากลับเข้าโครงการในช่วงนี้ก็จะได้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการล่าสุดด้วย
​10. ปัจจุบันที่มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) คลินิกแก้หนี้ยังเปิดทำการหรือไม่ และถ้าต้องการติดต่อทางคลินิกแก้หนี้ควรทำอย่างไร
  • ​คลินิกแก้หนี้ยังเปิดดำเนินการตามปกติ จันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30 – 17.00 น. เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลง
  • แต่อย่างไรก็ดี เพื่อช่วยชาติ ลดโอกาสการติดเชื้อ แนะนำให้ติดต่อโครงการผ่านช่องทางอื่นๆ ดังนี้
    1. Line @debtclinicbysam มีข้อสงสัยคำถามใดๆ ทางโครงการจะติดต่อกลับ หรือ
    2. Website : www.คลินิกแก้หนี้.com; www.debtclinicbysam.com ท่านสามารถสมัครเข้าโครงการผ่านช่องทางนี้ได้
    3. Call Center โทร 0-2610-2266
  

ทางด่วนแก้หนี้ : เปิดช่องทางเสริมสู่ความร่วมมือระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ สู้ภัยเศรษฐกิจจากโควิด 19

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 19 (COVID-19) ส่งผลให้รายได้ของประชาชนและภาคธุรกิจปรับลดลงอย่างมาก ในภาวะเช่นนี้การที่ผู้ให้บริการทางการเงินและลูกค้าสามารถตกลงร่วมกันปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก


ในการนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงเปิดช่องทาง "ทางด่วนแก้หนี้" ขึ้น เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ประชาชนหรือธุรกิจที่ต้องการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สามารถแจ้ง

ความต้องการไปที่ผู้ให้บริการทางการเงิน โดยช่องทางนี้เป็นช่องทางเสริมในช่วงที่มาตรการเว้นระยะเพื่อลดการแพร่เชื้อ (Social distancing) อาจทำให้ติดต่อหรือเดินทางไม่สะดวก ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้รับผ่านช่องทางนี้จะถูกส่งต่อไปยังผู้ให้บริการทางการเงินที่ระบุไว้


นอกจากนี้ ระบบงานได้ยกระดับและปรับปรุงเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานและส่งคำขอแก้หนี้ได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยลูกค้าที่ไม่สามารถกรอกข้อมูลได้ด้วยตนเองสามารถโทรมาที่ Call Center 1213 ของ ศคง. เพื่อปรึกษา หรือให้เจ้าหน้าที่ช่วยกรอกข้อมูลแทนได้


ก่อนใช้งานช่องทาง "ทางด่วนแก้หนี้" ผู้ใช้งานโปรดตรวจสอบว่า :

  1. (1) ท่านได้ติดต่อกับผู้ให้บริการแล้ว แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ หรือได้ข้อเสนอที่ไม่สามารถชำระได้
  2. (2) ท่านเลือกผู้ให้บริการที่ปัจจุบันท่านมีบัญชีสินเชื่ออยู่ (เลือกและกดเพิ่มได้ครั้งละ 1 แห่ง)
  3. (3) กรณีท่านต้องการสมัครเข้ามาตรการรวมหนี้ (Debt Consolidation) สำหรับลูกหนี้รายย่อย โปรดศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและ ถาม-ตอบที่เกี่ยวข้อง

อนึ่ง ขอเรียนว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีนโยบายให้เงินหรือให้เงินกู้แก่ประชาชนสำหรับไปชำระหนี้ รวมทั้ง "ทางด่วนแก้หนี้" ไม่มีการเรียกเก็บค่าดำเนินการใดๆ ในการเป็นตัวกลางระหว่างเจ้าหนี้-ลูกหนี้เพื่อให้ได้มีโอกาสตกลงปรับเงื่อนไขการชำระหนี้โดยความสมัครใจ


รายละเอียดเพิ่มเติม >>
เข้าสู่ทางด่วนแก้หนี้
ข่าว แบงก์ชาติเปิด "ทางด่วนแก้หนี้" เชื่อมเจ้าหนี้-ลูกหนี้ให้ปรับหนี้ร่วมกัน
ถาม-ตอบ ทางด่วนแก้หนี้สำหรับประชาชนทั่วไป
บทความ: “ทางด่วนแก้หนี้” เชื่อมเจ้าหนี้-ลูกหนี้ ตกลงกันได้ 70%



แหล่งเงินกู้ยืมที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ที่ประชาชนอาจเข้าถึงได้

หากประชาชนรายย่อยต้องการเงินกู้ยืมเพื่อเป็นสภาพคล่อง หรือเพื่อปิดภาระหนี้ที่คิดดอกเบี้ยแพง นอกจากแหล่งเงินที่เป็นธนาคารพาณิชย์แล้ว ท่านยังสามารถติดต่อแหล่งเงินให้กู้ยืมอื่นๆ เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติและยื่นขอกู้ได้


รายละเอียดเพิ่มเติม >>
บทความ: แหล่งเงินกู้ยืมที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ที่ประชาชนอาจเข้าถึงได้


กลับขึ้นไปด้านบน 


ผู้จัดการบริการ